พร้อมเรียนต่อต่างประเทศหรือยัง

แอดมินเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ทุกคนที่เรียนอยู่ต่างประเทศจะมีคล้ายๆกัน และเห็นว่าช่วงนี้น้องๆ หลายคนมีโอกาสได้ปิดเทอมนาน อาจกำลังตัดสินใจว่าจะ เรียนต่อต่างประเทศ ดีไหม? ขอบอกก่อนเลยว่าอยากให้เตรียมพร้อมก่อนมาเรียนกันนะคะ ^^

ก่อนตัดสินใจมาเรียนต่อต่างประเทศ ทั้งเรียนภาษาและเรียนต่อปริญญาโท/เอกในต่างประเทศ ถามตัวเองหรือยังว่า…….

1. พร้อมที่จะดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเองหรือไม่?

เพราะการมาเรียนต่อต่างประเทศ คุณต้องเผชิญชีวิตด้วยตัวของคุณเองในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องเล็กเท่าไรฝุ่น ไปจนถึงเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าเรือไททานิค คุณต้องดูแลชีวิตตัวคุณเอง ต้องจัดการเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน ค่าใช้จ่าย วัฒนธรรมที่แตกต่างจากประเทศไทย เวลาเรียนและทำงาน ทุกๆช่วงเวลาอาจเกิดเรื่องไม่คาดคิด ไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ คุณต้องพร้อมที่จะทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ด้วยตัวเองให้ได้ โดยพยายามพึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุด!

2. รู้หรือยังว่าตัวเองชอบอะไร??? 

ถ้ายังไม่รู้ อย่ามา!!! เราต้องยอมรับความจริงว่า การศึกษาในประเทศไทยยังไม่เท่าเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว สิ่งที่ท่านเคยเรียนมา 4 ปีในระดับปริญญาตรี อาจจบภายในคาบแรกของการมาเรียนที่ต่างประเทศ (ฟังดูเหมือนพูดเกินจริง แต่แอดมินและเพื่อนแอดมินบางคน เจอกันมาแบบนี้จริงๆ) นั่นหมายความว่าพื้นฐานของเราไม่เท่ากับนักเรียนที่มาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กลุ่มคนเหล่านั้นอาจจะใช้เวลาทวนแค่ไม่กี่วัน เราอาจจะต้องเตรียมตัวมากกว่าเค้าเป็นสิบเท่า

ดังนั้นถ้าไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบอยู่ บอกเลยว่าจะทำให้ชีวิตในต่างประเทศลำบากมาก และอยากกลับประเทศไทย เพราะความชอบจะทำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่เรากำลังทำ ถ้าเราไม่มีความสุข แถมต้องมาเจอกับภาษาอังกฤษ ภาระการอ่านหนังสือ พร้อมกับทำการบ้านที่สุดแสนจะหนักหน่วง และยังต้องอยู่โดดเดี่ยว นั่งคิดถึงบ้านอยู่คนเดียวแล้วหล่ะก้อ อย่ามา!!!

ในส่วนนี้จะช่วยตอบคำถามที่ว่าเรียนสาขาเดิม หรือเปลี่ยนสาขาดีมั้ย เราบอกคุณแล้วนะ ว่าบางทีสิ่งที่คุณเรียนมา อาจถูกบรรยายจบภายในคาบเดียวของการมาเรียนที่นี่ ถ้าคุณจะเริ่มใหม่กับสิ่งที่คุณไม่เคยเรียนมาเลย ไม่มีพื้นฐานเลย แล้วไปสู้กับนักเรียนคนอื่นๆ ที่เค้ามีพื้นฐานดีกว่า คำถามคือ คุณจะสู้เค้าได้หรือเปล่า? แต่ถ้าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คุณชอบ คุณพร้อมจะสู้ ก็เตรียมซื้อตั๋วเครื่องบินมาต่างประเทศได้เลย!!!

3. ภาษาอังกฤษพร้อมหรือยัง???

เรื่องภาษาอังกฤษ บางมหาวิทยาลัยหากคะแนนสอบ TOEFL/IELTS ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะกำหนดให้นักเรียนเข้าเรียนปรับพื้นฐานด้านภาษาก่อนการเข้าเรียนในหลักสูตร อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมหาวิทยาลัยไหนไม่มีระบบนี้ บอกเลยว่าต้องสู้ แอดมินมาเรียนคาบแรก มึนไปเลยจร้าาาาา การเตรียมภาษาอังกฤษเพื่อสอบ TOEFL/IELTS จะช่วยเราได้ในเรื่องของการเขียนได้มากที่สุด ส่วนการฟังได้เพียงระดับหนึงเท่านั้น เพราะจริงๆแล้วลักษณะการพูดจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เสียงโทนสูง ต่ำ มาจากรัฐไหน ประเทศไหน สำเนียงก็ต่างกันไปอีก ต้องฝึกฟังจากของจริง เช่น การดูหนังฝรั่ง ช่วยได้เยอะมาก สำหรับเรื่องการพูด บอกเลยต้องใช้เวลา เพราะการขยับลิ้นและปากเพื่อออกเสียงภาษาไทย แตกต่างจากการออกเสียงภาษาอังกฤษ ทำให้เราออกเสียงได้ไม่ชัดเจน ฝรั่งฟังไม่รู้เรื่อง อยู่ๆไปก็ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็จะย้อนกลับไปคำถามแรกว่าพร้อมที่จะมาใช้ชีวิตในต่างประเทศหรือเปล่า? สู้ไหม? ถ้าพร้อมแล้วเรื่องฝึกพูดแค่นี้ เบาๆ

4. สำหรับคนที่จะมาเรียนต่อต่างประเทศ ระดับปริญญาโท/เอก คุณพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอาจารย์ที่ปรึกษาหลักหรือยัง???

อ๊ะ อ๊ะ รู้หรือไม่ว่าอาจารย์ที่ปรึกษาหลักมีบทบาทอย่างมากสำหรับการเรียนต่อปริญญาโท/เอก แอดมินขอบอกเลยว่าอาจารย์ทีปรึกษาหลักมีส่วนในการกำหนดหัวข้อ Thesis/Project และแนวทางการทำงาน คุณจะเรียนจบหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก เพราะถ้าเค้าเห็นว่าคุณยังไม่พร้อมและ Thesis/Project ยังไม่ดีพอ คุณอาจจะต้องแก้ Thesis/Project ไปเรื่อยๆก็เป็นได้ ขออธิบายว่าอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้มีบทบาท 100% ในการจบไม่จบ อาจมีบทบาทแค่เพียง 10% แต่ 10% นั้น คือ กลไกให้คุณทำงานได้อย่างราบรื่น ถ้าเปรียบเสมือนเรามีเครื่องมือเป็นเฟืองที่ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ อาจารย์ที่ปรึกษาก็คือคนที่มีน้ำมันหล่อลื่นให้เฟืองนั้นขับเคลื่อนไปได้ เพราะฉะนั้น หากท่านจะไม่หยอดน้ำมัน เราก็ต้องรอให้ท่านหยอด อยู่ดีดี ท่านอยากเปลี่ยนยี่ห้อน้ำมัน (เปลี่ยนทฤษฎี/แบบจำลอง/วิธีการศึกษา) เราก็ต้องสรรหาน้ำมันมาให้ท่านถูกใจ ถ้าไม่ยอมหยอดน้ำมันเลย แล้วเฟืองจะหมุนไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร

สำหรับตัวเราที่มีเฟืองอยู่ เราก็ต้องดูแลเฟืองให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ แค่ได้น้ำมันหล่อลื่นเฟืองก็จะหมุนขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น นั่นคือ ตัวเราเองต้องทำงานเต็มที่ เตรียมตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ อาจารย์ที่ปรึกษาเหล่านี้ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยดังๆ จะเป็นคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว จะไม่ค่อยมีเวลา เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมงานของเรามาให้ดี เตรียมคำถามที่ชัดเจน ตรงประเด็น และตรงไปตรงมา ประสบการณ์ของอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้มีเอาไว้ให้เข้าใจว่าคุณเป็นคนยังไง แต่มีเอาไว้ให้เข้าใจว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ แล้วสิ่งที่คุณทำนั้น ทำได้ หรือ ทำไม่ได้ อย่างไร อ่านมาถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพของความสำคัญของอาจารย์ที่ปรึกษาหลักกันบ้างแล้ว ดังนั้นการทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

ตอบตัวเองให้ได้ก่อนที่จะมา เรียนต่อต่างประเทศ กันนะ…..ไม่ได้ให้ตอบคนอื่น แล้วจะเขียนภาคสองให้อ่านกันต่อ

Send this to a friend